ติดต่อโฆษณา ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ เชิญร่วมงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือเชิญทดสอบรถ ติดต่อ Car4YouMag

Car4YouMag

Rolls-Royce เผยโฉมรุ่นพิเศษ Rolls-Royce Wraith Eagle VIII คันเดียวในไทย มีเพียง 50 คันทั่วโลก

 

Rolls-Royce Motor Cars Bangkok (โรลส์-รอยซ์ มอเตอร์ คาร์ส แบงคอก) มีความยินดีที่ได้เปิดตัวยนตรกรรมรุ่นพิเศษ เพื่อนักสะสม Rolls-Royce Wraith Eagle VIII รุ่นพิเศษเพื่อนักสะสม เปิดตัวครั้งแรกใน ASEAN โดยประเทศไทยได้ Quota 1 คัน จากการผลิตจำกัดเพียง 50 คัน ทั่วโลก ซึ่งถูกผลิตขึ้นที่เมือง Goodwood สหราชอาณาจักร



คุณกฤษดา สวามิภักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป โรลส์-รอยซ์ มอเตอร์ คาร์ส แบงคอก กล่าวว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ของประวัติศาสตร์การเดินทางอันยิ่งใหญ่ เราภูมิใจนำเสนอหนึ่งในยนตรกรรมรุ่นพิเศษที่สามารถสะท้อนความหรูหรา ความประณีต และจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ได้ดีที่สุด



Wraith Eagle VIII สร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากการเดินทางอันน่าทึ่งของ 2 นักบิน คือ กัปตัน John Alcock และ Arthur Brown ผู้ประสบความสำเร็จในการขับเครื่องบินทิ้งระเบิด Vickers Vimy สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกโดยไม่จอดพัก เป็นครั้งแรกของโลกช่วงปี 2462

เครื่องบินที่ผ่านการปรับแต่งเป็นพิเศษ ติดตั้งเครื่องยนต์ของ โรลส์-รอยซ์ อีเกิล 8 (Eagle VIII) 350 แรงม้า ถึง 2 ตัว ซึ่งเป็นที่มาของชื่อรุ่น เสมือนการฉลองครบรอบ 100 ปี ของการเดินทางอันยิ่งใหญ่ ที่สะท้อนถึงการผจญภัยในปัจจุบัน และเพื่อเป็นเกียรติแด่บรรดาวีรบุรุษผู้บันทึกประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่

ระหว่างการเดินทาง นักบินทั้ง 2 ประสบปัญหาแทบทุกรูปแบบ วิทยุสื่อสารและระบบนำทางไม่สามารถใช้งานได้เกือบตลอดการบิน ทำให้ทั้งคู่ต้องอาศัยสัญชาติญาณ บินผ่านกลุ่มเมฆหนาทึบและหมอกเย็นจัดนานหลายชั่วโมง บางครั้งถึงขั้นบินกลับหัว แต่ด้วยทักษะอันยอดเยี่ยมของ Arthur Brown ก็สามารถทำให้พวกเขารอดมาได้อย่างปลอดภัย

โดยเครื่องยนต์ Rolls-Royce Eagle VIII กลายเป็นสิ่งเดียวในค่ำคืนนั้น ที่สามารถทำงานได้อย่างไร้ที่ติตลอดการบิน ทำลายสถิติด้วยความเร็วเฉลี่ยสูงถึง 185 กม./ชม.

"ผมไม่แน่ใจว่าควรชมเชยสิ่งใดมากสุด ระหว่างความมุทะลุ, ความมุ่งมั่น, ทักษะ, วิทยาศาสตร์, เครื่องบิน, เครื่องยนต์ โรลส์-รอยซ์ หรือความโชคดีของพวกเขา" Sir Winston Churchill (เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล) กล่าวถึงการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกของ Alcock และ Brown



ตัวถังของ Eagle VIII ใช้สีกันเมทัลตัดกับสี Selby Grey แบ่งเป็นสัดส่วนโดยเส้นทองเหลือง สื่อถึงรายละเอียดที่อยู่ด้านใน

กระจังหน้าสีดำได้รับอิทธิพลจากเครื่องยนต์ Rolls-Royce Eagle VIII ที่ถูกติดตั้งอยู่บนเครื่องบินทิ้งระเบิด Vickers Vimy

ขณะที่ล้อแม็กเคลือบเงาเป็นบางจุดด้วยสีเทาเข้ม ห้องโดยสารผ่านการตกแต่งอย่างประณีตและดูร่วมสมัย ให้สอดคล้องกับสีตัวถัง วัสดุทองเหลืองถูกใช้ในจุดสำคัญทั่วทั้งส่วนของที่นั่งคนขับ หนังแท้สี Selby Grey และสีดำ แต่งขอบด้วยทองเหลือง สื่อถึงเครื่องวัดระยะทางหาเส้นรุ้งและเส้นแวง ทองเหลือง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อความสำเร็จ ในการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก



กรอบลำโพงผลิตจากทองเหลือง แสดงระยะทางโดยประมาณกว่า 1,880 ไมล์ ของไฟล์ทการบินในตำนาน นอกจากนั้นโมโนแกรม "RR" ยังถูกตกแต่งด้วยด้ายสีทองเหลืองบนที่วางแขน

ขณะที่ประตูฝั่งผู้ขับ ตกแต่งด้วยแผ่นเหล็กสลักถ้อยแถลงของ Churchill ต่อความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของนักบินทั้งคู่ แดชบอร์ดถูกตกแต่งให้สะท้อนทิวทัศน์ ซึ่งนักบินทั้ง 2 ได้เห็นในท้ายที่สุด หลังบินฝ่าเมฆหมอกหนาออกมาได้สำเร็จ



ด้วยกรรมวิธีร่วมสมัยผสานเทคนิคดั้งเดิม ไม้ยูคาลิปตัสรมควันผ่านการชุบสูญญากาศเป็นสีทอง ก่อนนำไปเลี่ยมกับเงิน และทองแดง เพื่อถ่ายทอดรายละเอียดอันสวยงามของพื้นโลกยามค่ำคืน เมื่อมองจากท้องฟ้า การตกแต่งนี้ ทอดยาวไปจนถึงคอนโซลกลาง

 

ขณะที่ส่วนล่างของอุโมงค์กลาง ถูกบุและเย็บด้วยด้ายทองเหลือง สะท้อนถึงเครื่องบิน Vickers Vimy เครื่องยนต์ V12 สูบ ได้อย่างชัดเจน

นาฬิกาในรถยนต์ นับเป็นเครื่องประดับอันเลอค่าอีกชิ้นหนึ่ง ลูกค้าหลายท่านจึงเลือกตกแต่งในส่วนนี้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขา "Wraith Eagle VIII" ก็เช่นกัน ผู้บุกเบิกที่กล้าหาญของเราพบว่า แผงหน้าปัดอุปกรณ์ของพวกเขาแทบกลายเป็นน้ำแข็งเนื่องจากระดับความสูงและสภาพอากาศอันย่ำแย่ แสงสว่างเพียงหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ในตอนนั้น มาจากแสงสีเขียวของแผงควบคุมและประกายไฟจากเครื่องยนต์ทางกาบขวาของเครื่องบิน

เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว แผนก Bespoke Collective ของ Rolls-Royce ได้ประกอบนาฬิกาเข้ากับพื้นผิวที่ตกแต่ง ให้ดูคล้ายมีน้ำแข็งเกาะอย่างอัจฉริยะ แสงสีเขียวเรืองรองส่องสว่างยามกลางคืน เข็มชั่วโมงสีแดงแบบเดียวกับเข็มทิศได้แรงบันดาลใจจากลวดลายเส้นสายบนแผงหน้าปัดนาฬิกา ขณะที่พิกัดลงจอดถูกสลักไว้ด้านล่าง



ส่วนประกอบที่มีเสน่ห์มากสุดของรถคันนี้ เป็นเพดานห้องโดยสารที่สวยงามด้วยแสงดาว Starlight Headliner เส้นใยไฟเบอร์ออปติก 1,183 จุด แสดงตำแหน่งของดวงดาวบนฟากฟ้าในช่วงเวลาของไฟล์ทบินในปี 2462 เส้นทางบินและหมู่ดาวต่างๆ ถูกถักร้อยด้วยเส้นด้ายทองเหลือง

โดยเรื่องราวที่ทั้ง 2 บินฝ่าหมู่เมฆเพื่อใช้ดวงดาวนำทาง ถูกบอกเล่าผ่านเส้นใยนำแสงไฟเบอร์ออปติกสีแดง ควบคู่กับการเย็บปักเป็นลายก้อนเมฆ นอกจากนั้นยังมีแผ่นเหล็กที่มีข้อความ ‘The celestial arrangement at the halfway point 00:17am June 15th 1919, 50” 07’ Latitude North – 31 ”Longitude West’ แสดงจุดกึ่งกลางของการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์
ขับเคลื่อนโดย Blogger.