ติดต่อโฆษณา ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ เชิญร่วมงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือเชิญทดสอบรถ ติดต่อ Car4YouMag

Car4YouMag

ทำไมการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนถึงเป็นมากกว่าความสวยงาม โดย นพ.ศิรสิทธิ์ เลาหทัย ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง


 

เชื่อมั้ยว่ายังมีหลายๆ คน คิดว่าการผ่าตัดโรคอ้วนคือการผ่าตัดเสริมสวย แต่จะมีใครรู้มั้ยว่าการผ่าตัดช่วยให้มีอายุยืนยาวมากขึ้นถึง เกือบ 10 ปี ลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ ลดยาที่กิน อาหารหอบหืดดีขึ้น นอนหลับสบายขึ้น และนี่ยังเป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของประโยชน์หลังการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีคำถามตามมาอีกว่า "งั้นก็คุมอาหาร ออกกำลังกายสิ หลายๆ คนก็ทำได้ไม่ใช่เหรอ" ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่คำพูดที่ผิด แต่มันก็ถูกเพียงแค่ครึ่งเดียว เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว นอกจากเรื่องของจิตใจ วินัย หรือ การควบคุมตนเอง ยังมีทางด้าน สังคม สภาวะความเป็นอยู่ เศรษฐสถานะ สุขภาพร่างกาย โรคประจำตัว ไปจนถึงฮอร์โมนของร่างกาย ที่ทำให้การปรับพฤติกรรมไม่ใช่เรื่องง่าย ยกตัวอย่างเช่น ในคนที่น้ำหนักตัวมาก มีโรคข้อเข่าเสื่อม มีงานประจำ จะสามารถเริ่มปรับพฤติกรรมจากการออกกำลังกายได้อย่างไร

คนที่มีน้ำหนักตัวมากทุกๆ คนคงเคยผ่านการคุมอาหาร ปรับพฤติกรรมหรือบางคนอาจจะได้รับการฉีดยา หรือทานยาลดน้ำหนักต่างๆ มาก่อน ทั้งรู้สึกทรมานหรือหิวตลอดเวลาและถึงแม้จะลดน้ำหนักมาได้แล้ว 10-20 กก. สุดท้ายเมื่อเราไม่สามารถคุมอาหารได้ต่อเนื่อง น้ำหนักก็กลับขึ้นไปสูงกว่าเก่าอีก สาเหตุก็เป็นเพราะกระเพาะเรามีขนาดใหญ่ มีความจุมาก มีการผลิตฮอร์โมนความหิวอยู่ 

https://lensnews21.com/upload_file/202409271432493.png

ทำให้การปรับพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายสำหรับใครหลายๆคน แต่ทว่าการผ่าตัด นอกจากจะเป็นการลดความจุของกระเพาะไปได้ 80% แล้ว ยังลดการผลิตฮอร์โมนความหิว หรือ Ghrelin ทำให้เรามีความอยากอาหารน้อยลง และถึงแม้ว่าเราอยากทานอาหารเพียงใดก็ตาม เราก็ไม่สามารถทานได้เหมือนปกติ เนื่องจากความจุของกระเพาะอาหารเราลดลง ถ้าเราฝืนทานเข้าไป จะรู้สึกจุกแน่น และอาเจียนได้ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมการผ่าตัดจึงเป็นวิธีการลดน้ำหนักที่เห็นผลได้จริง และยั่งยืน

https://lensnews21.com/upload_file/202409271432490.png

ต่อมาเรามาดูกันว่า ประโยชน์ของการผ่าตัดส่องกล้องรักษาโรคอ้วน หรือ ที่หลายๆ คนเรียกว่า การผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก (Bariatric Surgery) นั้น สามารถช่วยอะไรเราได้บ้าง

1. ลดน้ำหนักได้ถึง 70-85% ของน้ำหนักส่วนเกิน ใน 1-2 ปีแรกหลังการผ่าตัด หรือถ้าตีเป็นตัวเลขกลมๆ คือประมาณ 30-40% ของน้ำหนักตั้งต้น ขึ้นอยู่กับน้ำหนักแรกเริ่มของเรา วิธีการผ่าตัด ตลอดจนการปรับพฤติกรรมหลังผ่าตัด

2. อายุยืนยาวมากขึ้น ถึง 9.3 ปี ในผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานร่วมด้วย และ อายุยืนยาวขึ้น 5.1 ในผู้ป่วยที่ไม่เป็นเบาหวาน

3. ช่วยทำให้หายจากโรคเบาหวาน ความดันในเลือดสูง ไขมันสูง ได้ถึง 60% สามารถลดปริมาณยา คุมระดับความดัน หรือระดับน้ำตาลในเลือดได้ง่ายขึ้น

4. ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง หัวใจวายเฉียบพลัน

5. ลดโอกาสการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม

6. ลดการนอนกรน ทำให้พักผ่อนได้มากขึ้น และรบกวนผู้อื่นน้อยลง

7. อาการหอบหืดดีขึ้น หายใจสะดวกขึ้น

8. ประจำเดือนมาปกติขึ้น ในผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงน้ำรังไข่ (หรือ PCOS) และ อาจจะส่งผลให้มีบุตรได้ง่ายขึ้น

9. ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และส่งเสริมให้มีความมั่นใจในตนเอง และมีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น 

https://bangkok-today.com/wp-content/uploads/2024/09/243826_0-850x560.jpg

อย่างไรก็ตามการผ่าตัดส่องกล้องรักษาโรคอ้วน อาจจะไม่ได้เป็นฝันหวานเสมอไป ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องแลกมาหลังการผ่าตัด ดังนี้  คือ

1. ความเสี่ยง หรือ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการผ่าตัด เช่น เลือดออกในช่องท้อง หรือ กระเพาะรั่วภายหลังการผ่าตัด ซึ่งสามารถพบได้ประมาณ 0.1-1%

2. อาการกรดไหลย้อนหลังผ่าตัด สามารถพบได้ 10-20% ของผู้ป่วย โดยส่วนใหญ่แล้วการปรับพฤติกรรมการกิน ร่วมกับการกินยา จะช่วยลดอาการกรดไหลย้อนดังกล่าว

3. ผมร่วง หรือภาวะขาดสารอาหาร  ถึงแม้ว่าเราจะทานโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุเสริมก็ตาม การที่น้ำหนักเราลดลงด้วยความรวดเร็ว ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถทำให้ผมร่วงได้ ภายหลังการผ่าตัด 3-4 เดือน

4. ไม่สามารถทานอาหารและน้ำได้เหมือนก่อนผ่าตัด ทั้งวิธีการกิน และ ปริมาณ โดยปกติเราสามารถทานน้ำได้ 1-2 แก้วโดยไม่มีปัญหา สามารถกินข้าวหมดจานได้สบายๆ แต่ทว่าหลังการผ่าตัดแล้วเราจะต้องปรับการทานอาหารโดยทานคำเล็กลง เคี้ยวสัก 20-30 ครั้งก่อนค่อยกลืน กว่าจะทานปลาได้สักครึ่งชิ้น อาจใช้เวลาถึงครึ่งชั่วโมง หลังจากทานอาหารเสร็จก็ไม่สามารถทานน้ำได้ ต้องรออีก 30 นาที ไม่อย่างงั้นจะมีอาการจุกแน่นและอาเจียน น้ำก็ต้องค่อยๆ จิบ คำเล็กๆ ดื่มเร็วไปอาจจะทำให้แน่นได้ ถ้าดื่มน้ำน้อยไปก็จะมีอาการหน้ามืด ขาดน้ำได้อีก

5.ความสุขในการทานอาหารเราจะหายไป จึงจำเป็นต้องระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า

6.ไม่สามารถทานอาหาร หรือ เครื่องดื่ม บางอย่างได้ เช่น อาหารที่เผ็ด น้ำอัดลม หรือ เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์

7.น้ำหนักอาจกลับมาขึ้นได้ 1-2 ปีหลังจากการผ่าตัด ถ้าเราไม่ได้ปรับพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง กระเพาะจะเริ่มขยายตัว และน้ำหนักอาจจะเพิ่มขึ้นได้

https://lensnews21.com/upload_file/202409271432492.png

ดังนั้นแล้วผู้ป่วยที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัด ตามข้อบ่งชี้ใน "แนวทางเวชปฏิบัติในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2564" ได้แก่

-ผู้ป่วยที่มี ดัชนีมวลกาย (BMI) > 37.5

-ผู้ป่วยที่มี ดัชนีมวลกาย (BMI) > 32.5 และมีโรคร่วม ได้แก่ เบาหวาน ความดันในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ไขมันเกาะตับ ทางเดินหายใจอุดกลั้นขณะหลับ ข้อเข่าเสื่อม ฯลฯ

-ผู้ป่วยที่มี ดัชนีมวลกาย (BMI) > 27.5 และมีโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยา

สุดท้ายนี้ถึงแม้ว่าการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วน จะเป็นวิธีลดน้ำหนักที่ยั่งยืนและเห็นผลได้จริง แต่ความร่วมมือในการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อที่จะทำให้ผลการรักษาสามารถคงอยู่ต่อไปได้ในระยะยาว

https://lensnews21.com/upload_file/20240927144327.png

ผู้สนใจสามารถปรึกษาหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสอบถามเกี่ยวกับเรื่องของกระเพาะอาหารได้ที่ เพจ Facebook : หมอโจอี้ นพ.ศิรสิทธิ์ เลาหทัย ศัลยแพทย์เฉพาะทางผ่าตัดส่องกล้อง หรือ Line : @dr.sirasit หรือ Website : www.doctorsirasit.com

ขับเคลื่อนโดย Blogger.