7 องค์กรชั้นนำของไทย ร่วมผลักดัน Concept เศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยโครงการ CHOICEISYOURS ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 พร้อมแนะนำ บางจาก คอร์ปอเรชัน พาร์ทเนอร์ใหม่
BMW (บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย) มูลนิธิชัยพัฒนา เอสซีจี ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กลุ่มเซ็นทรัล โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ พร้อมขยายความร่วมมือกับอีกหนึ่งพันธมิตร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) จับมือต่อยอดโครงการ CHOICEISYOURS ต่อเนื่องเป็นปีที่สาม เชิญชวนนิสิตนักศึกษาจากสถาบันศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วมแข่งขันประกวดแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดยนอกจากจะเปิดตัวอีกหนึ่งองค์กรชั้นนำอย่างบางจากในฐานะพาร์ทเนอร์ใหม่แล้ว ในปีนี้ โครงการ CHOICEISYOURS ยังได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและกติกาการแข่งขันใหม่ เพื่อยกระดับความเข้มข้นของกิจกรรมและส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาร่วมผลักดันการปรับเปลี่ยนเพื่อความยั่งยืนในภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น พร้อมยกระดับศักยภาพในกลุ่มคนเจเนอเรชันใหม่ ด้วยโครงการฝึกอบรมและการได้เรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานจริง พร้อมมอบโอกาสในการร่วมงานกับองค์กรชั้นแนวหน้าทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก
โครงการ CHOICEISYOURS 2024 เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษามีอิสระในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ เพื่อนำเสนอโครงการซึ่งประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยหลังจากการประกาศรับสมัคร ผู้เข้าแข่งขันจะต้องนำเสนอโครงการเพื่อแก้โจทย์ด้านความยั่งยืนจากแต่ละองค์กรพันธมิตร ซึ่งจะมีการคัดเลือกโครงงานที่ผ่านเข้ารอบ 60 ทีม (แบ่งออกเป็นทีมละ 2 คน รวมจำนวน 120 คน) ในเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อเดินหน้าเข้าสู่กิจกรรมฝึกอบรมและทัศนศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญต่อไป ก่อนที่จะมีการคัดเลือกในรอบรองชนะเลิศให้เหลือ 18 ทีมในเดือนกันยายน 2567 และรอบตัดสินในเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่จะถึงนี้ โดยทีมที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละหัวข้อโจทย์ จะได้รับโอกาสในการเข้าฝึกงานกับองค์กรระดับชั้นนำของประเทศต่อไป
สำหรับโครงการในปีนี้ ซึ่งได้ยกระดับความร่วมมือให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยการจับมือกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) อีกหนึ่งองค์กรพันธมิตรซึ่งสนับสนุนโครงการด้านความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในจุดประสงค์หลักของโครงการในปีนี้คือ การเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนวคิด 4 ด้านเรื่อง Rethink, Reduce, Reuse, Recycle ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างในกลุ่มนิสิตนักศึกษาและคนไทยทั่วไป รวมทั้งได้ร่วมกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และหาแนวทางเพื่อร่วมยกระดับศักยภาพของนิสิตนักศึกษาไทย ตามโจทย์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของแต่ละองค์กร ดังต่อไปนี้
1. บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กับโจทย์เรื่องการบริหารจัดการขยะกล่องกระดาษจากซัพพลายเออร์ ซึ่งอะไหล่แต่ละชิ้นจะถูกแพ็คมาในกล่องกระดาษขนาดต่างๆ ซึ่งหากไม่มีการจัดการที่ถูกวิธี ก็จะทำให้เกิดขยะจากบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษจำนวนมากในแต่ละเดือน โดยโจทย์ที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องนำเสนอแนวคิดแก้ไข คือ ถ้าหากในระยะเวลา 1 เดือน มีปริมาณกล่องกระดาษที่ต้องถูกกำจัดประมาณ 1,000 กิโลกรัม ให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันนำเสนอแนวคิดการจัดการกับขยะกล่องกระดาษดังกล่าวโดยใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยแนวคิดที่นำเสนอจะต้องสร้างมูลค่าให้แก่ขยะกล่องกระดาษให้ได้มากกว่า 10 บาท/กิโลกรัม
2. มูลนิธิชัยพัฒนาและกลุ่มเซ็นทรัล ด้วยโจทย์ที่เน้นเรื่องการนำเสนอบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่อง Rethink/Reduce/Reuse/Recycle เพื่อรังสรรค์ขึ้นเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกใช้ในการบรรจุอาหาร, ต้นไม้ หรืออื่นๆ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าต่อยอดสินค้าให้น่าสนใจ และมีความทันสมัย เพื่อการวางจำหน่ายที่ร้าน Good Goods สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ นอกจากนี้ ยังมีโจทย์เรื่องการออกแบบป้ายโครงการเกี่ยวกับพืช ผัก ผลไม้ ให้มีเอกลักษณ์และสื่อสารเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและการลดปริมาณขยะในอนาคตได้อย่างชัดเจน
3. เอสซีจี “องค์กรแห่งโอกาส” พร้อมเปิดพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาจากสถาบันศึกษาทั่วประเทศมาปล่อยแสง แสดงพลัง ร่วมเสนอความคิดสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรมกรีน ด้วยการนำวัสดุที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว หรือวัสดุเหลือใช้ (Waste) มาใช้ทดแทน “วัตถุดิบจากธรรมชาติ” เพื่อผลิตสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง หรือบรรจุภัณฑ์สินค้า ตามแนวคิด Circular Economy ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ที่ไม่มีประโยชน์ เพราะเราเชื่อว่า ไอเดียจากคนรุ่นใหม่จะเป็นพลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้เป็นไปได้ ตามแนวทาง Passion for Inclusive Green Growth
4. ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) มองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความรุนแรงมากขึ้น จึงเห็นความจำเป็นให้นักศึกษาประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Generative AI หรือ AI ขั้นสูงที่สามารถเรียนรู้เชิงลึกจากชุดข้อมูลที่มีอยู่ และใช้องค์ความรู้เหล่านั้นมาสร้างผลลัพธ์ใหม่ๆ ที่มนุษย์ต้องการได้ โดยนิสิตนักศึกษาจะต้องนำเทคโนโลยี Generative AI นี้มาประยุกต์ใช้ในการช่วยลดการใช้ทรัพยากร หรือจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เชิงบวกได้รวดเร็วขึ้น ง่ายดายยิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิผล ทั้งยังช่วยขยายแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งกว่าเดิม
5. โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ การก่อสร้างอาคารของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สามารถสร้างขยะก่อสร้างจำนวนมหาศาลที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทางโนเบิลจึงมอบโจทย์เรื่องการนำเสนอนวัตกรรมวิธีการจัดการขยะก่อสร้างให้กับโครงการก่อสร้างย่านอารีย์และสุขุมวิท เพื่อสร้างประโยชน์ต่อชุมชน ทั้งในแง่ความเป็นอยู่ สุขภาพ หรือการสร้างรายได้ และเพื่อพัฒนาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร
6. บางจาก คอร์ปอเรชัน ซึ่งดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว มอบโจทย์เรื่องการเสริมสร้างชุมชนที่ยั่งยืนผ่านธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต ด้วยการรวบรวมน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากภาคครัวเรือนหรือชุมชน เพื่อผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ตามโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” ของบางจากฯ ซึ่งรณรงค์การเก็บรวบรวมน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว มาผลิต SAF เพื่อส่งเสริมทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) รวมถึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
โครงการการแข่งขันแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน “CHOICEISYOURS“ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและวิกฤติของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในปัจจุบัน ผ่านมุมมองของนิสิตนักศึกษาซึ่งเป็นตัวแทนของคนร่นใหม่ในไทย เพื่อผลักดันให้เกิดการทำงานประสานกันระหว่างเยาวชนผู้เข้าร่วมประกวด ชุมชน รวมทั้งองค์กรต่างๆ ในประเทศ และร่วมขับเคลื่อนการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต ถือเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของทั้ง 7 องค์กรพันธมิตร ที่ต้องการร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก รองรับอนาคตสีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย
นิสิตและนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ https://www.bmw.co.th/th/discover/choice-is-yours.html พร้อมส่งวิดีโอแนะนำทีมและนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับโครงการ พร้อมแผนการทดลองโดยสังเขป ระหว่างวันที่ 6 มิถุนายน – 12 กรกฎาคม 2567