NIA ผนึกกำลัง CEA เปิดหลักสูตรผู้บริหารเมืองนวัตกรรม รุ่นที่ 6 (CCIO 2023) ภายใต้แนวคิด "อยู่ดี มีนวัตกรรม เศรษฐกิจยั่งยืน"
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA (เอ็นไอเอ) เปิดรับผู้เข้าร่วมหลักสูตรผู้บริหารเมืองนวัตกรรมรุ่นที่ 6 เจาะกลุ่มผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและนักลงทุน และองค์กรด้านการพัฒนาและให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและภาคประชาสังคม โดยตั้งเป้าหมายในการสร้างนักพัฒนาเมือง เพื่อผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่ “ประเทศแห่งนวัตกรรม (Innovation Nation)” ในอนาคตอันใกล้ พร้อมเปิดตัวพันธมิตรหลัก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ร่วมเสริมองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ เริ่มอบรมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2566
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “NIA เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีความรู้ในการบริหารจัดการเชิงนวัตกรรม รวมถึงการตั้งเป้าให้ NIA เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม (Focal Facilitator) ในการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ จึงจัดทำหลักสูตรผู้บริหารเมืองนวัตกรรม (Chief City Innovation Officer: CCIO) ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 6 โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสามารถให้กลุ่มผู้บริหารเมืองมีความพร้อมด้านการพัฒนาและการจัดการเมืองนวัตกรรม บนพื้นฐานขององค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาทักษะในการวางแผนยุทธศาสตร์ และการจัดการเมืองที่เป็นไปตามหลักสากล และนำหลักการของเมืองต้นแบบมาปรับใช้ในบริบทของท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ คำนึงถึงอนาคตที่ยั่งยืน”
“หลักสูตรผู้บริหารเมืองนวัตกรรม จึงนับเป็นแพลตฟอร์มสำคัญของการพัฒนาเมือง ที่ได้รวบรวมนักพัฒนาเมืองจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เข้ามาสร้างเครือข่ายของนักบริหารเมืองเพื่อสร้างความร่วมมือ ผ่านกระบวนการต่างๆ ภายใต้หลักสูตร ที่เปิดให้เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อยกระดับความสามารถด้านการบริหารจัดการเมืองนวัตกรรมให้กับผู้เข้ารับการอบรม รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้และทักษะของผู้เข้าร่วมอบรม ให้เข้าใจถึงบริบทการพัฒนาพื้นที่เมืองและท้องถิ่นบนพื้นฐานของนวัตกรรม” ดร. พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติม
ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวถึงในส่วนของการเข้ามาร่วมในหลักสูตรนี้ เนื่องจาก CEA ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ของผู้บริหารเมืองที่จะเล็งเห็นถึงศักยภาพของท้องถิ่นและสามารถดึงความคิดสร้างสรรค์ ผนวกภูมิปัญญาพื้นถิ่น และผสานเข้ากับนวัตกรรม เพื่อให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและถูกใช้เป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาเมือง โดยผู้เข้าร่วม จะได้เรียนรู้แนวทางในการขับเคลื่อน“เมืองสร้างสรรค์” โดยมีเครื่องมือตั้งต้นจากการพัฒนาพื้นที่ อย่าง “ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ต่อยอด-ผลักดัน ทั้งสินทรัพย์-คน และพื้นที่ ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ ให้เกิดเป็น “ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนด้วยการออกแบบและนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของหลักสูตร CCIO ที่มุ่งให้ในแต่ละพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจด้วยตนเอง และยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า “หลักสูตร CCIO รุ่นที่ 6 ภายใต้แนวคิด “อยู่ดี มีนวัตกรรม เศรษฐกิจยั่งยืน” จะมุ่งเน้นมิติเมืองนวัตกรรมต้องมีความสมดุล ต้องเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ต้องมีการสร้างและใช้นวัตกรรม ต้องมีสตาร์ทอัพ ฯลฯ โดยมีหัวข้อการอบรม 8 หัวข้อ ภายใต้ 3 โมดูลหลัก คือโมดูลพื้นฐาน (Foundation) ประกอบด้วยหัวข้อ เมืองแห่งอนาคต (City of The Future) กระบวนทัศน์ใหม่ของเศรษฐกิจเมือง (New Paradigm of City Economy) นวัตกรรมเปลี่ยนเมือง (UrbanTech Innovation) โมดูลประเด็นร่วมสมัย (Contemporary Issues) ประกอบด้วยหัวข้อ ทรัพยากรมนุษย์แห่งอนาคต (Innovative Talent) การร่วมทุนภาครัฐ ภาคเอกชน (Public Private Partnership) โมดูลเครื่องมือการบริหารเมือง (Tools) ประกอบด้วยหัวข้อ วิทยาการข้อมูลสำหรับการบริหารเมือง (Data Science for City Management) การสื่อสารเมือง (City Branding) และที่พิเศษในปีนี้กับหัวข้อ การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรม (Creative city as the key driver of Innovation) ที่ได้พันธมิตรหลักซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ คือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) มาร่วมในการจัดการอบรมในครั้งนี้ นอกเหนือไปจากองค์ความรู้และประสบการณ์ที่จะได้รับจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ”
สำหรับผลการจัดหลักสูตร CCIO ในปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายกลุ่มผู้บริหารเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า 160 ราย เกิดโครงการภายใต้ความร่วมมือในการพัฒนาเมืองด้วยนวัตกรรมที่นำไปใช้ในส่วนการวางแผน การบริหารจัดการ การแก้ปัญหา การฟื้นฟูเมืองในระดับท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ ซึ่งตอบโจทย์การสร้างความเข้มแข็งของระบบนวัตกรรมในระดับพื้นที่ มีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรและกำลังคนด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะระดับพื้นที่และภูมิภาค พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการส่งเสริม สนับสนุน และเชื่อมโยงการใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตในพื้นที่ภูมิภาคของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการสร้างแบรนด์พื้นที่ที่มีอัตลักษณ์และความโดดเด่น และเกิดกิจกรรมและการลงทุนทางด้านนวัตกรรมในพื้นที่
ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าว่า การจัดหลักสูตรผู้บริหารเมืองนวัตกรรม รุ่นที่ 6 นี้ จะสามารถสร้างเครือข่ายนักพัฒนาเมืองได้ไม่น้อยกว่า 60 ราย ตามเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรและกำลังคนด้านนวัตกรรม รวมถึงสามารถพัฒนาให้เกิดแผนหรือข้อเสนอโครงการ หรือโครงการพัฒนาเมืองที่จะเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 3 โครงการ และสามารถยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมในส่วนภูมิภาค เมือง และย่าน ได้ในอนาคตอันใกล้
ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามเข้าร่วมอบรมได้ที่ cciothailand@gmail.com หรือ http://ccio.nia.or.th