JTECS จับมือ ส.ส.ท. ก้าวข้ามความท้าทาย ดัน "Smart Factory" โรงงานอัจฉริยะ ยกระดับ SME ไทย
นายคุวาตะ ฮาจิเมะ ประธานสมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย หรือ JTECS ประเทศญี่ปุ่น ผู้ดำเนินโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของไทย และประเทศใกล้เคียง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. เข้าพบ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อรายงานความคืบหน้าและผลสัมฤทธิ์ของ "โครงการสนับสนุนการจัดตั้ง Smart Monodzukuri Support Team ในประเทศไทย"
ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือ G2G ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมไทย และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ตลอดจนรายงานผลการสำรวจ "ประเด็นปัญหาต่อการมุ่งสู่ 'Smart Factory'" โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทย และร่วมหารือในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไทย และนายนิชิมุระ ยาสึโทชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ได้มีการแลกเปลี่ยนกรอบความร่วมมือ "Cooperation Framework on Human Resource Development for Realizing Industry 4.0" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่การดำเนินงานพัฒนาทักษะบุคลากรภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีทั้งสองประเทศได้มีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับการดำเนินโครงการพัฒนาทักษะบุคลากร รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนในไทยในโอกาสที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผลการหารือดังกล่าว รวมทั้งความสัมพันธ์อันดีของรัฐมนตรีทั้งสองท่านจะทำให้การดำเนินโครงการความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นเป็นไปอย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ
"โครงการสนับสนุนการจัดตั้ง Smart Monodzukuri Support Team" เริ่มมีการดำเนินการในประเทศไทยนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation: DX) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (METI) และกระทรวงอุตสาหกรรม ประเทศไทย โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และเป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลไทยและญี่ปุ่นภายใต้กรอบความร่วมมือข้างต้นอีกด้วย นอกจากนี้การดำเนินโครงการดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานความร่วมมือต่าง ๆ เช่น JTECS The Association for Overseas Technical Cooperation and Sustainable Partnerships (AOTS) องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. และสถาบันเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น (TNI) เป็นต้น
ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาภายใต้ "โครงการสนับสนุนการจัดตั้ง Smart Monodzukuri Support Team" ได้มีการพัฒนาบุคลากรสู่การที่ปรึกษาด้าน IoT จำนวนทั้งสิ้น 50 คน และมีการให้คำปรึกษาแนะนำแก่บริษัท SME จำนวนทั้งสิ้น 10 แห่ง ซึ่งการดำเนินการให้คำปรึกษาแนะนำภายในสถานประกอบการนั้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ที่ดำเนินการในรูปแบบ On-the-job-Training (OJP) ซึ่งเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างชัดเจนในด้านของการลดเวลาส่งมอบ การลดปริมาณสินค้าคงคลัง และการเพิ่มผลิตภาพ เป็นต้น
โดยในการเข้าพบครั้งนี้ นายคุวาตะ ฮาจิเมะได้รายงานผลการดำเนินงานดังกล่าวให้แก่ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ทราบ รวมทั้งได้มีการรายงานผลการสำรวจ "ประเด็นปัญหาต่อการเปลี่ยนสู่ 'Smart Factory'" ซึ่งได้แสดงให้เห็นข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า แม้ 56% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามจะอยู่ในระหว่างการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ Smart Factory แต่มากกว่า 90% ของบริษัทเหล่านี้มีความสนใจที่จะใช้บริการที่ปรึกษาเพื่อมุ่งสู่ "Smart Factory" เป็นต้น หรือ กล่าวได้ว่ามีผู้ประกอบการที่มีความต้องการเข้าร่วม"โครงการสนับสนุนการจัดตั้ง Smart Monodzukuri Support Team" เป็นจำนวนมากจากผลการสำรวจดังกล่าว
นอกจากนี้ จากการหารือร่วมกันในครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม METI JTECS ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อน "โครงการสนับสนุนการจัดตั้ง Smart Monodzukuri Support Team" ในประเทศ ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนให้สามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืนภายใต้กรอบความร่วมมือในรูปแบบ G2G ที่กระทรวงอุตสาหกรรมไทย มีร่วมกันกับ METI อีกทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการ รวมไปถึงการคัดเลือกบุคลากร และสถานประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวในประเทศไทยเป็นไปอย่างราบรื่นและบรรลุวัตถุประสงค์สูงสุด