ติดต่อโฆษณา ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ เชิญร่วมงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือเชิญทดสอบรถ ติดต่อ Car4YouMag

Car4YouMag

DEPA และ สถาบัน IMC เผยผลสำรวจ 3 อุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ปี 2563 ชี้อานิสงส์ New Normal ดันบริการ Digital ขยายตัว สวนทางฮาร์ดแวร์ฯ ดิ่งหนัก


 

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ร่วมกับ สถาบันไอเอ็มซี เผย ผลสำรวจข้อมูลสถานภาพอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล ประจำปี 2563 เผยมูลค่ารวมขยายตัว 7.76% จากปี 2562 โดยเฉพาะตลาดบริการดิจิทัลที่เติบโตแบบก้าวกระโดด สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับตัวสู่นิวนอร์มอล ด้านตลาดฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะหดตัวหนัก แม้มูลค่าตลาดยังครองส่วนแบ่งมากที่สุด ชี้ให้เห็นทิศทางอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยที่หันไปสู่เศรษฐกิจฐานบริการมากขึ้น ส่วนมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ปรับลดเล็กน้อย ขณะที่บุคลากรดิจิทัลเพิ่มขึ้นในทุกอุตสาหกรรม แต่ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะบุคลากรดิจิทัลขั้นสูงอย่างโปรแกรมเมอร์ และนักพัฒนา

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดย ดีป้า ร่วมกับ สถาบันไอเอ็มซี ดำเนินการสำรวจข้อมูลสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ประจำปี 2563 โดยมุ่งเน้นไปที่ 3 อุตสาหกรรมหลัก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Devices) และ อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Services) ทั้งในส่วนของข้อมูลรายได้และการจ้างงาน โดยนำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้คำนวณร่วมกัน ซึ่งผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ภาพรวมมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 6.5 แสนล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ย 7.76% จากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท



อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัลเติบโตก้าวกระโดดรับนิวนอร์มอล

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัลมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดหากเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2.44 แสนล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ย 44.42% จากปี 2562 ที่มีมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าตลาด Online-media, e-Logistics และ e-Retail พร้อมประเมินว่า การเติบโตจะยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้พฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนไป โดยหันมาให้ความสำคัญกับการใช้บริการดิจิทัลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เริ่มคุ้นชินกับวิถีชีวิตแบบนิวนอร์มอล ทั้งการจับจ่ายสินค้า การรับชมภาพยนตร์หรือซีรีส์ รวมถึงนโยบายภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ อาทิ คนละครึ่ง ชิมช้อปใช้ เราชนะ ฯลฯ นโยบายเรียนออนไลน์ และ Work from Home

ด้านบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมมีจำนวนราว 8 หมื่นคน เพิ่มจากปี 2562 เพียง 17.9% โดยส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจ e-Logistics ซึ่งเป็นกลุ่มไรเดอร์ที่ถูกรวมเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมตั้งแต่ปี 2562 แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการธุรกิจบริการด้านดิจิทัลสะท้อนว่า ภาคอุตสาหกรรมกำลังประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคนดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มโปรแกรมเมอร



อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์หดตัวเล็กน้อยตามทิศทางเศรษฐกิจ

ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า มูลค่าอุตสาหกรรมตลาดซอฟต์แวร์ และบริการซอฟต์แวร์ อยู่ที่ 1.31 แสนล้านบาท หดตัวเฉลี่ย 2.61% จากปี 2562 ที่มีมูลค่า 1.34 แสนล้านบาท หลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจากวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562 แม้ผู้ประกอบการจะพยายามปรับรูปแบบธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับ Digital Transformation มากขึ้น แต่ยังมีธุรกิจอีกส่วนหนึ่งที่ชะลอการลงทุน จึงไม่สามารถกระตุ้นให้ตลาดซอฟต์แวร์เติบโตตามปกติได้ อย่างไรก็ตาม ปี 2563 เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมชัดเจนขึ้น โดยตลาดซอฟต์แวร์มีแนวโน้มหดตัว แต่ไปขยายตัวที่ตลาดบริการซอฟต์แวร์ และมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคจะซื้อบริการตรงจากแพลตฟอร์มต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถรับรู้รายได้ที่เกิดขึ้น และส่งผลให้ประมาณการณ์มูลค่าตลาดบริการซอฟต์แวร์จะดำเนินการได้ยากขึ้นในอนาคต

ด้านบุคลากรในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์มีประมาณ 1 แสนคน แบ่งเป็นบุคลากรสายดิจิทัลราว 50,000 คน คิดเป็น 53.88% และพนักงานด้านอื่น ๆ เฉลี่ย 50,000 คน พร้อมกันนี้ยังพบว่ามีกำลังคนเพิ่มขึ้นในทุกสายงานที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ โดยตำแหน่ง Software/IT Project Manager เพิ่มขึ้นสูงที่สุดเฉลี่ย 15% แต่ยังคงมีเสียงสะท้อนถึงปัญหาความขาดแคลนบุคลากรในสายอาชีพ



อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะหดตัวต่อเนื่อง


ในส่วนของอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะมีมูลค่าราว 2.74 แสนล้านบาท ลดลง 8.34% จากปี 2562 ที่มีมูลค่า 2.99 แสนล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการหดตัวของรายได้ในตลาดฮาร์ดแวร์เฉลี่ย 10.65% ขณะที่รายได้ตลาดอุปกรณ์อัจฉริยะลดลงเพียง 2.23% เหตุจากมาตรการล็อกดาวน์ ปิดห้างสรรพสินค้า และร้านค้าที่ส่งผลกระทบต่อยอดขาย แต่ในขณะเดียวกัน การ Work from Home และการเรียนออนไลน์ทำให้เกิดความต้องการสินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น และดันราคาสินค้าให้สูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้า กล่าวคือ ยอดขายในส่วนของจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ปี 2563 ลดลง 5.63% เมื่อเทียบกับ 2562 แต่ในทางกลับกัน มูลค่าตลาดคอมพิวเตอร์กลับขยายตัว 4.81%

ด้านบุคลากรในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะมีจำนวนกว่า 3 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 53.24% โดยบุคลากรสายดิจิทัลมีจำนวนกว่า 60,000 คน และกว่า 70% เป็นพนักงานการตลาดและการขาย อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนกำลังคนในสายงานนักพัฒนา (Developer) ที่ลดลงจากปีที่ผ่านมากว่า 10,000 คน

ผศ.ดร.ณัฐพล ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีภาษี e-Service ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของตลาดบริการซอฟต์แวร์และบริการดิจิทัลเป็นธุรกิจที่ทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์ม แต่ที่ผ่านมาธุรกิจเหล่านั้นไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย จึงยังมีมูลค่าส่วนหนึ่งที่ยังไม่ถูกนับรวมเข้ามาในการสำรวจ แต่ในวันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติจะต้องเสียภาษี e-Service ทำให้มีผู้ประกอบการต่างประเทศลงทะเบียนเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากรแล้วกว่า 50 ราย ดังนั้นตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปจึงน่าจับตาทิศทางตลาดอย่างมากว่าจะเติบโตก้าวกระโดดกว่าปี 2563 เพียงใด และเชื่อว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยจะขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจฐานบริการอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ภาวะการขาดแคลนกำลังคนดิจิทัลที่เกิดจากการแย่งชิงกำลังคนระหว่างอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ประยุกต์ใช้ดิจิทัลในธุรกิจมากขึ้นช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ค่าตัว โดยเฉพาะบุคลากรในสายโปรแกรมเมอร์พุ่งถึงหลักแสน ซึ่ง ผศ.ดร.ณัฐพล มองว่า ปัญหาขาดกำลังคนดิจิทัล ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพนับเป็นปัญหาเรื้อรังที่ ดีป้า มิได้นิ่งนอนใจ โดยตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ดีป้า พร้อมด้วยพันธมิตร ทั้งภาคเอกชนและภาคการศึกษา ดำเนินการ Upskill กำลังคนสายดิจิทัล และ Reskill สายวิชาชีพอื่นให้มีทักษะดิจิทัลเพิ่มขึ้น เพื่อสนองตอบความต้องการของอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมถึงภาคอุตสาหกรรมอื่นด้วย

“ดีป้า ยังให้ความสำคัญกับ Post-COVID-19 โดยตั้งเป้าหมายระยะสั้น เพื่อให้นโยบายเกิดความชัดเจนในการปฏิบัติคือ การสร้างการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย 1) High Value Software 2) Digital Service 3) Digital Content และ 4) การให้บริการฮาร์ดแวร์ หากการลงทุนเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในประเทศไทยจะทำให้เกิดการทรานส์ฟอร์มในเซ็กเตอร์ใหม่ที่เป็นทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเราคำนึงถึงเสมอว่าจะทำให้อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นทุนของประเทศได้อย่างไร ส่วนหน้าที่ของเราคือ การทำให้เกิดแนวทางในการแก้ไขปัญหา และทำให้เมืองไทยเป็น Digital Hub” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี กล่าวว่า ปี 2563 ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้สังคมปรับตัวสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเร็วขึ้น มีการใช้บริการดิจิทัลมากขึ้น จึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยเติบโตอย่างมาก แต่ในแง่ของซอฟต์แวร์มีการเปลี่ยนรูปแบบไปใช้บริการ Cloud Computing มากขึ้น และบางส่วนหันไปซื้อตรงจากต่างประเทศ ส่วนอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะมีมูลค่าการนำเข้าที่ลดลง

“สำหรับปี 2564 สถานการณ์อาจเป็นเช่นเดิม โดยมูลค่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มีแนวโน้มที่จะลดลง แต่ในทางกลับกัน มูลค่าการนำเข้าอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะจะขยายตัว อาจเป็นเพราะในปีที่ผ่านมามีการชะลอตัวลง ทำให้ผู้บริโภคต้องการสินค้าใหม่ ส่วนอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลยังมีอัตราการเติบโตที่สูง เพราะผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้บริการผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น และคาดว่า ปี 2565 เป็นต้นไปสถานการณ์อุตสาหกรรมดิจิทัลในทุกกลุ่มน่าจะมีการกลับมาเติบโตดังเดิม” ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี กล่าว

ขับเคลื่อนโดย Blogger.